สาเหตุของปัญหาการเรียน
• สติปัญญาบกพร่อง หรือปัญญาอ่อน (Mental Retardation)
• วิตกกังวล หรือซึมเศร้า (Anxiety or Depression)
• สมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder ADHD)
• ภาวะการเรียนบกพร่อง (Learning Disorder –LD)
• เจ็บป่วยเรื้อรัง (Chronic Illness)
• ขาดโอกาสทางการศึกษา
• ขาดแรงจูงใจ (Lack of Motivation)
• วิธีการสอนไม่เหมาะสม
LD คืออะไร?
• ความบกพร่องของกระบวนการเรียนรู้ ที่เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของสมอง ทำให้ความสัมฤทธิ์ผลด้านการเรียนต่ำกว่าความเป็นจริง
• ความบกพร่องนี้อาจเกิดขึ้นเฉพาะความสามารถด้าน ใดด้านหนึ่ง เช่น การอ่าน การเขียน การสะกดคำ การคำนวณ หรือหลายๆด้านร่วมกัน
พบบ่อยแค่ไหน?
• ประมาณว่า 1 ใน 10 ของเด็กทั่วไปมีปัญหาการเรียนจนต้องได้รับการศึกษาพิเศษและเกือบครึ่งหนึ่งของเด็กจำนวนนี้มี LD การศึกษาของเด็กในวัยเรียนพบว่าร้อยละ 6-10 จะมี LD เด็กชายจะมีปัญหาได้บ่อยกว่าเด็กหญิงในอัตราส่วน 4:1
สาเหตุของ LD
• ความผิดปกติของการทำงานของสมองที่ไม่สามารถถอดรหัสตัวอักษรออกมาได้ (เชื่อมโยงภาพตัวอักษรเข้ากับเสียงไม่ได้)
• กรรมพันธุ์
ประเภทของ LD
• LD ด้านการเขียนและสะกดคำ
• LD ด้านการอ่าน
• LD ด้านการคำนวณ
• LD หลายๆ ด้านร่วมกัน
ลักษณะของเด็ก LD แต่ละประเภท (การเขียน)
• ลากเส้นวนๆ ไม่รู้ว่าจะม้วนหัวเข้าในหรือออกนอก ขีดวนๆ ซ้ำๆ
• เรียงลำดับอักษรผิด เช่น สถิติ เป็น สติถิ
• เขียนพยัญชนะหรือตัวเลขสลับกัน เช่น ม-น, ภ-ถ, ด-ค, พ-ผ, b-d, p-q, 6-9
• เขียนพยัญชนะ ก-ฮ ไม่ได้ แต่บอกให้เขียนเป็นตัวๆได้
• เขียนพยัญชนะ หรือ ตัวเลขกลับด้าน คล้ายมองจากกระจกเงา
• เขียนคำตามตัวสะกด เช่น เกษตร เป็น กะเสด
• จับดินสอหรือปากกาแน่นมาก
• สะกดคำผิด โดยเฉพาะคำพ้องเสียง ตัวสะกดแม่เดียวกัน ตัวการันต์
• เขียนหนังสือช้าเพราะกลัวสะกดผิด
• เขียนไม่ตรงบันทัด ขนาดตัวอักษรไม่เท่ากัน ไม่เว้นขอบ ไม่เว้นช่องไฟ
• ลบบ่อยๆ เขียนทับคำเดิมหลายครั้ง
ลักษณะของเด็ก LD แต่ละประเภท (การอ่าน)
• อ่านช้า อ่านคำต่อคำ ต้องสะกดคำจึงจะอ่านได้
• อ่านออกเสียงไม่ชัดเจน
• เดาคำเวลาอ่าน
• อ่านข้าม อ่านเพิ่มคำ อ่านผิดประโยคหรือผิดตำแหน่ง
• อ่านโดยไม่เน้นคำ หรือเน้นข้อความบางตอน
• ผันเสียงวรรณยุกต์ไม่ได้
• ไม่รู้ความหมายของเรื่องที่อ่าน
• เล่าเรื่องที่อ่านไม่ได้ จับใจความสำคัญไม่ได้
ลักษณะของเด็ก LD แต่ละประเภท
ประเภท (การคำนวณ)
• ไม่เข้าใจค่าของตัวเลขเช่นหลักหน่วยสิบร้อยพันหมื่นเป็นเท่าใด
• นับเลขไปข้างหน้าหรือถอยหลังไม่ได้
• คำนวณบวกลบคูณหารโดยการนับนิ้ว
• จำสูตรคูณไม่ได้
• เขียนเลขกลับกันเช่น13เป็น31
• ทดไม่เป็นหรือยืมไม่เป็น
• ตีโจทย์เลขไม่ออก
• คำนวณเลขจากซ้ายไปขวาแทนที่จะทำจากขวาไปซ้าย
• ไม่เข้าใจเรื่องเวลา
ปัญหาพฤติกรรมและอารมณ์ของเด็ก LD
• หลีกเลี่ยงการอ่านการเขียน
• ทำสมุดการบ้านหายบ่อยๆ
• ต่อต้านแบบดื้อเงียบ
• ดูเหมือนเด็กเกียจคร้าน
• ไม่มีสมาธิในการเรียนทำงานช้าทำงานไม่เสร็จในชั้นเรียน
• ทำงานสะเพร่า
• ความจำไม่ดีได้หน้าลืมหลัง
• ขาดความมั่นใจกลัวครูดุกลัวเพื่อนล้อ
• ไม่อยากมาโรงเรียนโทษครูว่าสอนไม่ดีเพื่อนแกล้ง
• เบื่อหน่ายท้อแท้กับการเรียน
• รู้สึกว่าตัวเองไม่เก่งด้อยกว่าคนอื่น
• ไม่มั่นใจในตัวเอง
• มักตอบคำถามว่า“ทำไม่ได้“ไม่รู้”
• อารมณ์หงุดหงิดขึ้นลงง่ายคับข้องใจง่าย
• ก้าวร้าวกับเพื่อนครูพ่อแม่(ที่จ้ำจี้จ้ำไช)
ปัญหาการเรียน
• ปัญหาการพูด มีปัญหาในการฟังและพูด เช่น พูดช้าพูดสับสน เรียบเรียงประโยคไม่ค่อยได้ หาคำพูดเพื่อมาตอบคำถามไม่ถูกต้อง
• ปัญหาการเขียน มีความลำบากในการอ่าน การเขียน และ การสะกดคำ เช่น อ่านไม่เข้าใจ อ่านออกเสียงไม่ถูกต้อง อ่านตัวอักษรสลับกัน
• ปัญหาการคำนวณไม่เข้าใจแนวคิดของพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ทำเลขไม่ได้
• ปัญหาในกระบวนความคิดสับสนในการเรียบเรียงและบูรณาการข้อมูลและความคิดต่างๆ
• ปัญหาความจำจำข้อมูลและคำสั่งต่างๆไม่ค่อยได้นึกอะไรไม่ค่อยออก
อาการที่มักเกี่ยวข้องกับLD
• แยกแยะขนาดสีและรูปร่างไม่ออก
• มีปัญหาความเข้าใจเกี่ยวกับเวลา
• เขียน/อ่านตัวอักษรสลับซ้าย-ขวา
• งุ่มง่ามการประสานงานของกล้ามเนื้อไม่ดี
• การประสานงานของสายตา-กล้ามเนื้อ (visual-motor coordination) ไม่ดี
• สมาธิไม่ดี( เด็ก LD ร้อยละ 15-20 มีสมาธิสั้น ADHD ร่วมด้วย)
• เขียนตามแบบไม่ค่อยได้
• ทำงานช้า
• การวางแผนงานและจัดระบบ (organize) ไม่ดี
• ฟังคำสั่งสับสน
• คิดแบบนามธรรมหรือคิดแก้ปัญหาไม่ค่อยดี
• ความคิดสับสนไม่เป็นขั้นตอน
• ความจำระยะสั้น/ยาวไม่ดี
• ถนัดซ้ายหรือถนัดทั้งซ้ายและขวา
• ทำงานสับสนไม่เป็นขั้นตอน
การตรวจประเมิน
• โดยทั่วไปเราจะวินิจฉัย LD โดยดูความแตกต่างระหว่างสัมฤทธิ์ผลทางการเรียนกับระดับสติปัญญาของเด็ก โดยถือว่าเด็กจะเป็น LD ต่อเมื่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในด้านนั้นๆ ต่ำกว่าระดับสติปัญญา 2 ปี เช่น เด็กอายุ 10 ปี มี I.Q.=100 แต่ปรากฏว่าความสามารถในการอ่านเท่ากับเด็กอายุ 7 ปี หรือ เด็กอายุ 10 ปีที่มี I.Q.=130 แต่ความสามารถในการคำนวณเท่ากับอายุ 10 ปีเป็นต้น (เด็กควรทำได้สูงกว่านั้น)
จะเกิดอะไรกับเด็กแอลดี (LD) เมื่อเขาโตขึ้น?
• ในเด็กบางคนที่เป็น LD อาการจะหายไปได้เมื่อโตขึ้น เชื่อว่าสาเหตุมาจากสมองกลุ่มนี้พัฒนาช้า แต่ในที่สุดก็สามารถพัฒนาไปได้ แต่ในเด็กส่วนใหญ่อาการยังคงอยู่ หากไม่ทำการช่วยเหลือแล้ว การเรียนรู้ที่สับสนและลำบากมักนำไปสู่การล้มเหลวในการเรียนและปัญหาทางอารมณ์
• ในสมัยก่อนยังไม่ค่อยมีใครเข้าใจเรื่อง LD มากนักคนที่เป็น LD เลยต้องประสบปัญหา หลายคนปรับตัวไม่ได้และต้องออกจากโรงเรียนบางคนกลายเป็นอันธพาลเกเร บางคนหางานทำไม่ได้ เป็นต้น
• การที่เด็กเรียนรู้แบบปกติไม่ได้ ทั้งๆที่สติปัญญาดีนั้นมักทำให้เด็กมีความหงุดหงิดใจ รู้สึกตัวเองโง่เด็กมักถูกเพื่อนๆล้อ ถูกผู้ใหญ่ตำหนิว่าไม่พยายาม เด็กจะมีปฏิกิริยาต่อประสบการณ์ดังกล่าวในหลายลักษณะ เช่นอาจมีอาการวิตกกังวล ซึมเศร้า หรือไม่ก็มีพฤติกรรมก้าวร้าว ซึ่งก็ทำให้ปัญหาการเรียนที่มีอยู่นั้นแย่ลงไปอีก
การช่วยเหลือเด็กที่เป็นแอลดี (LD)
สิ่งสำคัญในการช่วยเหลือเด็กมีสามประการคือ
• การแก้ไขความบกพร่องในกระบวนการเรียนรู้
• การแก้ไขปัญหาทางอารมณ์
• ส่งเสริมจุดแข็งหรือความสามารถอื่นๆของเด็ก
หลักการทั่วไปในการช่วยเหลือเด็ก LD
• สอนจากสิ่งที่ง่ายที่สุด
• สอนจากสิ่งที่เด็กคุ้นเคยไปหาสิ่งที่เด็กไม่คุ้นเคย
• ให้โอกาสเด็กเลือกเรียน
• ให้เด็กมีความสุขในการเรียน
• ใช้ประสบการณ์ตรง
• ให้เด็กเรียนรู้ตามขีดความสามารถของตน
• ใช้แรงเสริมอย่างมีประสิทธิภาพ
• กระตุ้นให้เด็กใช้ความคิด
• ให้เด็กเรียนจากเพื่อน
• แจ้งผลการเรียนให้เด็กทราบโดยเร็ว
• ทบทวนบทเรียนบ่อยๆ
• สอนโดยการเน้นย้ำเชื่อมโยงกับวิชาอื่นด้วย
• จัดห้องเรียนให้เอื้อต่อการเรียน
• ใช้คำสั่งที่สั้นและเข้าใจง่าย
• มองหาจุดเด่น-จุดด้อยของเด็ก
วิธีการช่วยเหลือเด็ก LD
• สอนเสริม ควรจัดให้เด็กเรียนในชั้นเล็กๆ หรือมีห้องพิเศษที่จัดไว้สอนเด็กที่มีปัญหาคล้ายๆกัน หรือให้มีการเรียนตัวต่อตัว ที่เรียกว่า resource room
• สอนไปตามขั้นตอนเท่าที่เด็กรับได้ ไม่ควรเร่ง และจะต้องให้เหมาะกับเด็กเป็นรายๆไป เขียนแผนการเรียนรายบุคคล (Individualized Educational Plan-IEP)
• สอนซ้ำๆจนเด็กสามารถก้าวหน้าทีละขั้น เน้นไปในสิ่งที่เด็กทำได้ ให้กำลังใจและชมเชยเมื่อเด็กก้าวหน้าขึ้น
• สอนเด็กในช่องทาง (channel) ที่เด็กรับได้ เช่น หากเด็กมีปัญหาในด้านการรับเสียงแต่การรับภาพปกติ ก็สอนโดยใช้ภาพ เช่น ให้ดูรูปมากขึ้น หากเด็กมีปัญหาในการรับภาพ ก็สอนโดยใช้เสียงมากขึ้น เช่น เด็กที่อ่านหนังสือไม่ได้ พ่อแม่ก็อ่านหนังสือให้ฟัง เป็นต้น
• ใช้วิธีเรียนรู้หลายรูปแบบ (multimodal technique) ตามช่องทางที่เด็กเรียนรู้ได้ เช่น เด็กที่อ่านไม่คล่อง พ่อแม่อาจอ่านหนังสือแล้วอัดเทปไว้ให้เด็กมาเปิดฟัง ถ้าเด็กอ่านข้อสอบไม่ได้ อาจต้องขอให้คุณครูอ่านข้อสอบให้เด็กฟังเป็นพิเศษ
• ใช้เครื่องมือต่างๆเข้ามาช่วยเด็ก เช่น เด็กที่มีปัญหาการเขียนอาจใช้เครื่องพิมพ์ดีดหรือเครื่องคอมพิวเตอร์มาช่วย เด็กที่มีปัญหาการคำนวณควรอนุญาตให้ใช้เครื่องคิดเลข ส่วนเด็กที่มีปัญหาการอ่านก็ใช้เครื่องอัดเทปมาช่วย เด็กที่สับสนเกี่ยวกับตัวอักษรก็ควรฝึกโดยใช้ตัวอักษรพลาสติกให้เด็กจับต้อง เพื่อให้เรียนรู้ทางการสัมผัสด้วย เป็นต้น
• แก้ไขอาการสมาธิไม่ดีหรือโรค ADHD ที่มีร่วมด้วย
แก้ไขปัญหาทางอารมณ์
• รักษาปัญหาทางอารมณ์ที่เกิดร่วมค้วยเช่นโรคซึมเศร้าหรือวิตกกังวล
• ช่วยให้เด็กมีความนับถือตนเอง (Self-esteem)
• แก้ไขความสัมพันธ์ในครอบครัว ครอบครัวของเด็กที่มีความตึงเครียดเนื่องมาจากการเรียนของเด็กและพ่อแม่มักไม่เข้าใจปัญหาที่เด็กมี การอธิบายพ่อแม่ให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องและเปลี่ยนทัศนคติจากการตำหนิเด็กมาเป็นการช่วยเหลือเด็กเป็นสิ่งสำคัญ
คำแนะนำแก่ผู้ปกครองของเด็ก LD
• พยายามใจเย็นๆ เมื่อคุณฟังเด็กพูดหรือรอเด็กเขียน เพราะเด็กอาจจะพูดหรือเขียนได้ไม่คล่องและต้องใช้เวลาสักนิด
• แสดงความรักต่อเด็ก
• มองหาจุดแข็งและความสามารถอื่นๆพยายามสร้างจุดแข็งเหล่านั้นให้ทดแทนความบกพร่องที่เด็กมี
• อย่าลืมชมเมื่อเด็กทำอะไรได้ดีแม้จะเป็นสิ่งเล็กน้อยก็ตาม
• ยอมรับนับถือในตัวเด็กว่าเด็กก็เป็นบุคคลที่มีความหมายและมีสิ่งดีๆในตนเองเหมือนกัน
• มีความคาดหวังที่เหมาะสม
• เมื่อเด็กทำผิดเช่นเขียนผิดอ่านผิดจงอย่าบ่นช่วยเด็กแก้ไขข้อที่ผิดอย่างอดทน
• อ่านหนังสือสนุกๆกับเด็กกระตุ้นให้เด็กถามคำถามเล่าเรื่องและแสดงความคิดเห็น
• เด็ก LD มักมีปัญหาสมาธิสั้นร่วมด้วย ดังนั้นต้องช่วยเด็กโดยลดสิ่งที่จะทำให้เด็กวอกแวก ให้เด็กมีที่เงียบๆ สำหรับนั่งทำงาน
• อย่ามีของเล่นมากไปอย่าเปิดโทรทัศน์หรือวิทยุขณะเด็กทำการบ้าน
• อย่าสนใจคะแนนมากนักเพราะเด็กอาจทำคะแนนได้ไม่ดีทั้งๆที่พยายามมากแล้ว
• ช่วยให้เด็กมีความนับถือตนเองอย่างมั่นคง